Monstercitie

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ลูกหมาโคลนนิงที่เหลือรอด 4 ตัวจาก 6 ตัว จะสังเกตว่าที่เล็บก็เป็นสีแดง นั่นเพราะมียีนเรืองแสงในตัว
นักวิทย์เกาหลีใต้ โชว์ผลงานโคลนนิง “ลูกหมาเรืองแสง” 4 ตัวมองเห็นเป็นสีแดง หลังถูกแสงยูวี ชี้ความสำเร็จไม่ใช่แค่การโคลนนิงได้ลูกหมา แต่เป็นเทคนิคปรับแต่งยีน ที่สามารถแทรกคุณลักษณะจำเพาะได้ตามต้องการ หวังนำไปช่วยพัฒนาหนทางการรักษาโรคร้ายในมนุษย์



สำนักข่าวเอพีรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์เกาหลีใต้โชว์ผลสำเร็จในการโคลนนิงลูกสุนัข โดยได้สุนัขเพศเมียพันธุ์บีเกิล 4 ตัวให้สามารถเรืองแสงสีแดง ซึ่งลูกหมาทั้ง 4 ตัวมีชื่อรวมกันว่า “รูปปี” (Ruppy) ซึ่งมาจากคำว่า “รูบี้” (ruby – สีแดงทับทิม) และ “พัพพี” (puppy-ลูกสุนัข)



ลูกสุนัขเหล่านี้ในยามกลางวันก็ดูเหมือนบีเกิลเพื่อนร่วมสายพันธุ์อื่นๆ ทั่วไป หากเมื่อต้องแต่แสงอัลตราไวโอเล็ต (UV) ตัวของพวกมันก็จะเรืองแสงสีแดงออกมาทันที ไม่ว่าจะเป็นลำตัว บริเวณท้องที่มีผิวหนังบาง รวมทั้งเล็บและดวงตาก็ล้วนสีแดง



ผลงานลูกหมาเรืองแสงนี้ เป็นของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติของเกาหลีใต้ ในกรุงโซล (Seoul National University) นำโดย ศ.ลี บยอง จุน (Lee Byeong-chun) ซึ่งเขาเรียกผลงานครั้งนี้ว่า สุนัขตัดต่อพันธุกรรมตัวแรกของโลกที่มียีนเรืองแสง โดยความสำเร็จในครั้งนี้จะสร้างความก้าวหน้ามากกว่าความรู้ในเรื่องการโคลนนิงยีนเรืองแสง



ทั้งนี้ ศ.ลี กล่าวแก่สำนักข่าวเอพีว่า นักวิทยาศาสตร์จากอเมริกา ญี่ปุ่น รวมถึงยุโรป ก็เคยสร้างผลงานโคลนนิงสิ่งมีชีวิตเรืองแสงกันไปแล้ว อย่างหนูและหมู แต่นี่นับเป็นครั้งแรกที่มีการโคลนนิงสุนัขด้วยยีนเรืองแสงที่ปรับแต่งขึ้น ดังนั้นนัยยะแห่งความสำเร็จของงานในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เพียงได้สุนัขที่เรืองแสงสีแดง แต่พวกเราสามารถปลูกถ่ายยีนเรืองแสงในตัวสุนัขเหล่านั้นได้



ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ระบุว่า พวกเขาโคลนนิงเซลล์สุนัขขึ้น จากการปรับแต่งยีน โดยได้รายงานความสำเร็จลงในวารสาร “เจเนซิส” (Genesis) ฉบับออนไลน์ เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยนำเซลล์ผิวหนังของสุนัขบีเกิลมาใส่ยีนเรืองแสง และนำเซลล์ดังกล่าวใส่ลงไปในไข่ จากนั้นจึงนำไข่ไปฝากไว้ที่ท้องของสุนัขตัวเมีย และในเดือน ธ.ค.ปี 2550 สุนัขบีเกิลตัวเมีย 6 ตัวก็ได้คลอดออกมา พร้อมทั้งมียีนโปรตีนเรืองแสงสีแดงบรรจุอยู่ในตัว แต่น่าเสียดายที่ลูกหมา 2 ตัวตายไปในไม่ช้า



“สุนัขเรืองแสงสีแดง แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ ในการแทรกยีนจำเพาะที่เกี่ยวเนื่องกับโรคร้ายของมนุษย์ลงไปในสุนัข ซึ่งโรคในสุนัขกว่า 224 ชนิดนั้นมีผลให้มนุษย์เจ็บป่วย” ศ.ลีอธิบาย โดยทีมวิจัยของเขาก็ได้เดินหน้าใช้เทคนิคนี้ปลูกถ่ายยีนที่เกี่ยวเนื่องกับโรคต่างๆ อาทิ พาร์กินสันส์ โดยยังไม่แย้มรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม



ส่วนคง อิล คุน (Kong Il-keun) มหาวิทยาลัยคยองซังเกาหลีใต้ (South Korea's Gyeongsang National University) ที่เคยโคลนนิงแมวเรืองแสงได้ก่อนหน้านี้ ในปี 2550 ก็ให้ความเห็นต่อ ลูกหมาของ ศ.ลีว่า เป็นการโคลนนิงที่แท้จริง และเชื่อว่าทีมของ ศ.ลีจะสามารถสร้างเซลล์จำเพาะในการต่อสู้กับโรคได้



อย่างไรก็ดี ศ.ลี ก็เคยร่วมงานวิจัยกับฮวาง อู โซก (Hwang Woo-suk) ที่ท้ายที่สุดถูกจับได้ว่าสร้างข้อมูลเท็จเรื่องเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) แต่ท้ายที่สุด ผลงานการโคลนนิงสุนัขของฮวางที่ลีร่วมด้วย ได้รับการยืนยันว่าเป็นของจริง.

ป้ายกำกับ:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก