Monstercitie

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ลูกหมาโคลนนิงที่เหลือรอด 4 ตัวจาก 6 ตัว จะสังเกตว่าที่เล็บก็เป็นสีแดง นั่นเพราะมียีนเรืองแสงในตัว
นักวิทย์เกาหลีใต้ โชว์ผลงานโคลนนิง “ลูกหมาเรืองแสง” 4 ตัวมองเห็นเป็นสีแดง หลังถูกแสงยูวี ชี้ความสำเร็จไม่ใช่แค่การโคลนนิงได้ลูกหมา แต่เป็นเทคนิคปรับแต่งยีน ที่สามารถแทรกคุณลักษณะจำเพาะได้ตามต้องการ หวังนำไปช่วยพัฒนาหนทางการรักษาโรคร้ายในมนุษย์



สำนักข่าวเอพีรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์เกาหลีใต้โชว์ผลสำเร็จในการโคลนนิงลูกสุนัข โดยได้สุนัขเพศเมียพันธุ์บีเกิล 4 ตัวให้สามารถเรืองแสงสีแดง ซึ่งลูกหมาทั้ง 4 ตัวมีชื่อรวมกันว่า “รูปปี” (Ruppy) ซึ่งมาจากคำว่า “รูบี้” (ruby – สีแดงทับทิม) และ “พัพพี” (puppy-ลูกสุนัข)



ลูกสุนัขเหล่านี้ในยามกลางวันก็ดูเหมือนบีเกิลเพื่อนร่วมสายพันธุ์อื่นๆ ทั่วไป หากเมื่อต้องแต่แสงอัลตราไวโอเล็ต (UV) ตัวของพวกมันก็จะเรืองแสงสีแดงออกมาทันที ไม่ว่าจะเป็นลำตัว บริเวณท้องที่มีผิวหนังบาง รวมทั้งเล็บและดวงตาก็ล้วนสีแดง



ผลงานลูกหมาเรืองแสงนี้ เป็นของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติของเกาหลีใต้ ในกรุงโซล (Seoul National University) นำโดย ศ.ลี บยอง จุน (Lee Byeong-chun) ซึ่งเขาเรียกผลงานครั้งนี้ว่า สุนัขตัดต่อพันธุกรรมตัวแรกของโลกที่มียีนเรืองแสง โดยความสำเร็จในครั้งนี้จะสร้างความก้าวหน้ามากกว่าความรู้ในเรื่องการโคลนนิงยีนเรืองแสง



ทั้งนี้ ศ.ลี กล่าวแก่สำนักข่าวเอพีว่า นักวิทยาศาสตร์จากอเมริกา ญี่ปุ่น รวมถึงยุโรป ก็เคยสร้างผลงานโคลนนิงสิ่งมีชีวิตเรืองแสงกันไปแล้ว อย่างหนูและหมู แต่นี่นับเป็นครั้งแรกที่มีการโคลนนิงสุนัขด้วยยีนเรืองแสงที่ปรับแต่งขึ้น ดังนั้นนัยยะแห่งความสำเร็จของงานในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เพียงได้สุนัขที่เรืองแสงสีแดง แต่พวกเราสามารถปลูกถ่ายยีนเรืองแสงในตัวสุนัขเหล่านั้นได้



ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ระบุว่า พวกเขาโคลนนิงเซลล์สุนัขขึ้น จากการปรับแต่งยีน โดยได้รายงานความสำเร็จลงในวารสาร “เจเนซิส” (Genesis) ฉบับออนไลน์ เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยนำเซลล์ผิวหนังของสุนัขบีเกิลมาใส่ยีนเรืองแสง และนำเซลล์ดังกล่าวใส่ลงไปในไข่ จากนั้นจึงนำไข่ไปฝากไว้ที่ท้องของสุนัขตัวเมีย และในเดือน ธ.ค.ปี 2550 สุนัขบีเกิลตัวเมีย 6 ตัวก็ได้คลอดออกมา พร้อมทั้งมียีนโปรตีนเรืองแสงสีแดงบรรจุอยู่ในตัว แต่น่าเสียดายที่ลูกหมา 2 ตัวตายไปในไม่ช้า



“สุนัขเรืองแสงสีแดง แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ ในการแทรกยีนจำเพาะที่เกี่ยวเนื่องกับโรคร้ายของมนุษย์ลงไปในสุนัข ซึ่งโรคในสุนัขกว่า 224 ชนิดนั้นมีผลให้มนุษย์เจ็บป่วย” ศ.ลีอธิบาย โดยทีมวิจัยของเขาก็ได้เดินหน้าใช้เทคนิคนี้ปลูกถ่ายยีนที่เกี่ยวเนื่องกับโรคต่างๆ อาทิ พาร์กินสันส์ โดยยังไม่แย้มรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม



ส่วนคง อิล คุน (Kong Il-keun) มหาวิทยาลัยคยองซังเกาหลีใต้ (South Korea's Gyeongsang National University) ที่เคยโคลนนิงแมวเรืองแสงได้ก่อนหน้านี้ ในปี 2550 ก็ให้ความเห็นต่อ ลูกหมาของ ศ.ลีว่า เป็นการโคลนนิงที่แท้จริง และเชื่อว่าทีมของ ศ.ลีจะสามารถสร้างเซลล์จำเพาะในการต่อสู้กับโรคได้



อย่างไรก็ดี ศ.ลี ก็เคยร่วมงานวิจัยกับฮวาง อู โซก (Hwang Woo-suk) ที่ท้ายที่สุดถูกจับได้ว่าสร้างข้อมูลเท็จเรื่องเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) แต่ท้ายที่สุด ผลงานการโคลนนิงสุนัขของฮวางที่ลีร่วมด้วย ได้รับการยืนยันว่าเป็นของจริง.

ป้ายกำกับ:


ในขณะที่หลายคนกังวลว่า ไทยจะผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้ไม่ทันความต้องการ แต่ยังมีสิ่งที่ต้องจับตานอกเหนือจากนั้น นั่นคือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้วัคซีน "เชื้อเป็น" ที่ยังไม่ชัดเจนว่าก่อความรุนแรงต่อผู้รับวัคซีนหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือไม่ และมีเพียง สหรัฐฯ และรัสเซียที่ทำก่อน ส่วนไทยเพิ่งจะเริ่มศึกษาไปพร้อมๆ กับอินเดีย


รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวระหว่างการเสวนา "แผนการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ระดับโรงงานขนาดใหญ่" ซึ่งจัดขึ้น
โดยศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. ณ อาคาร สวทช. (ถนนโยธี) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 20 ส.ค.52 ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์เข้าร่วมฟังด้วยว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นผลิตมา "เชื้อตาย" (Inactivated vaccine) ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมกำลังผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จาก "เชื้อเป็น" (Live attenuated vaccine) ของไวรัส



ภก.สิทธิ์ ถิระภาคภูมิอนันต์
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
การผลิตวัคซีนจากไวรัสเชื้อเป็นนั้น รศ.นพ.ประสิทธิ์ อธิบายคร่าวๆ ว่าเป็นการทำให้เชื้อไวรัสอ่อนแรง แล้วให้เข้าไปเจริญเติบโตในร่างกายได้ แต่อ่อนแอเกินกว่าจะเกิดโรคและทำอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งข้อแตกต่างระหว่างการใช้เชื้อเป็นและเชื้อตาย คือถ้าใช้วัคซีนเชื้อตายจะต้องฉีดให้แก่ผู้รับในปริมาณมาก ขณะวัคซีนเชื้อเป็นจะฉีดให้ผู้รับในปริมาณที่น้อยกว่า





ดังนั้น เมื่อเกิดการระบาดจึงเลือกใช้ "เชื้อเป็น" เพื่อผลิตวัคซีน แต่ปัญหาคือวัคซีนจากเชื้อเป็น จะใช้ได้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันดีและสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีมีผู้ที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่นผู้ที่ผ่านการทำเคมีบำบัด ป่วยเรื้อรัง ที่อาจเกิดอาการไม่ดีเมื่อวัคซีนได้
สำหรับเชื้อเป็น ของไวรัสไข้หวัดใหญ่นั้น ถูกทำให้อ่อนแรงโดยนำไปแช่ที่อุณหภูมิต่ำ ทำให้เจริญเติบโตได้ไม่ดี แต่ยังไม่ตาย ซึ่ง ภก.สิทธิ์ ถิระภาคภูมิอนันต์ ผู้อำนวยการกองผลิตวัคซีนจากไวรัส องค์การเภสัชกรรม (อภ.) อธิบายว่า เชื้อไวรัสตั้งต้นสำหรับผลิตวัคซีน จะเติบโตที่อุณหภูมิ 32-33 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเจริญเติบโตได้ที่ทางเดินหายใจตอนต้น แต่จะอยู่ไม่ได้ที่อุณหภูมิตั้งแต่ 37 องศาเซลเซียสขึ้นไป


ทั้งนี้ ข้อควรระวังในการใช้วัคซีนจากเชื้อเป็นคือ ไม่ใช้กับผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง คนท้อง ผู้ป่วยหอบหืด ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ และใช้ในเด็กได้ตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป
ทั้งนี้มีประเทศที่ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากเชื้อเป็นอยู่แล้วคือสหรัฐฯ และรัสเซีย ส่วนประเทศที่กำลังศึกษาคือไทยและอินเดีย โดยไทยนำเข้าเชื้อไวรัสอ่อนแรงจากรัสเซีย ซึ่งมีการทดสอบว่าใช้ได้ในเด็ก และการทดสอบวัคซีนต้องแน่ใจได้ว่า เชื้อจะไม่เติบโตได้ที่อุณภูมิสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส พันธุกรรมของเชื้อเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และมีการทดสอบตามข้อกำหนดก่อนนำออกไปใช้



ไข่ไก่ฟัก เครื่องมือสำคัญสำหรับ
การผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่




อย่างไรก็ดี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสู่คน ซึ่งเข้าร่วมเสวนาด้วยนั้น ได้กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ถึงประเด็นที่ควรต้องจับตามองต่อวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 จากเชื้อเป็นว่า ยังไม่เคยมีประเทศใดใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่จากเชื้อเป็น ทั้งนี้ต้องตั้งคำถามว่ามีประเทศไหนบ้าง ที่ใช้วัคซีนจากเชื้อเป็น เพื่อความอุ่นใจ ซึ่งหากมีประเทศที่ทำได้แล้ว เราจะได้สอบถามได้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่



อีกทั้งเชื้ออ่อนกำลังที่นำมาจากรัสเซียนั้น ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนในสัตว์ทดลองว่าสร้างภูมิคุ้มกันได้ทั้งในระดับเซลล์และในภูมิคุ้มกันของร่างกายหรือไม่ แล้วใช้สัตว์ในการทดลองไปกี่ตัว เมื่อทดลองฉีดเชื้อในสัตว์แล้วยังมีไวรัสปล่อยออกมาจากสัตว์ได้กี่วัน ซึ่งประเด็นหลังนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้ยกตัวอย่างกรณีให้วัคซีนโปลิโอทางปากแก่เด็กแล้ว ได้ไวรัสที่มีพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปออกมาทางอุจจาระของเด็ก และพ่อซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเด็กแล้วได้รับเชื้อดังกล่าวไปกลายเป็นอัมพาต

อีกตัวอย่างคือกรณีไข้หวัดใหญ่หมูที่ระบาดเมื่อปี ค.ศ. 1976 นั้น สหรัฐฯ ได้ฉีดวัคซีนให้กับประชากร และภายหลังจากนั้น 6 สัปดาห์เกิดพบผู้มีอาการแขนขาอ่อนแรงและเส้นประสาทอักเสบ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมีเชื้อปนเปื้อนจากขั้นตอนการผลิตวัคซีนในไข่ที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ โดยวัคซีนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันวิกฤตที่ทำลายเส้นประสาทตัวเอง ซึ่งการใช้วัคซีนกับประชากร 6-7 พันคนไม่พบอาการดังกล่าว แต่พบเมื่อใช้วัคซีนกับประชากร 40-45 ล้านคน
"สิ่งที่คาดเดาไม่ได้คือในไวรัสของวัคซีนนั้นทำให้เกิดภูมิคุ้มกันวิกฤตขึ้นหรือไม่ แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับในกรณีของการระบาดขึ้นมา" ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวถึงความเสี่ยงจากการใช้วัคซีนเชื้อเป็นที่เราต้องยอมรับ ซึ่งต่างจากวัคซีนเชื้อตายที่ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง แต่กำลังการผลิตจะไม่ทันต่อการระบาด
นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดของวัคซีนเชื้อเป็นตรงที่ใช้ได้กับผู้ที่มีอายุระหว่าง 2-49 ปีเท่านั้น ขณะที่เด็กและคนชราเป็นกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีน แต่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะใช้วัคซีนเชื้อเป็น.

นักวิจัยอินเดียเผยผลงานลูกควายโคลนนิง "การิมา" สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ แก้มือเมื่อต้นปีที่ลูกควายโคลนนิงตัวแรกของโลกมีอายุได้เพียงแค่ 1 สัปดาห์
นักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันวิจัยผลิตภัณฑ์ทางด้านนมแห่งอินเดีย (National Dairy Research Institute : NDRI) ในเมืองกรนาล (Karnal) รัฐหรยาณา (Haryana) ทางตอนเหนือของอินเดีย ได้โคลนนิงกระบือสำเร็จ โดยใช้เนื้อเยื่อตัวอ่อน
 
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานโ ดยอ้างข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ฮินดู (Hindu newspaper) ที่สัมภาษณ์ศรีวัศตวา (A.K. Srivastava) ผู้อำนวยการ NDRI ว่า ลูกกระบือโคลนนิงที่ได้เพศเมีย ชื่อว่า "การิมา" (Garima) มีน้ำหนักประมาณ 43 กิโลกรัม ตอนนี้สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดี
 
ทั้งนี้ สำนักข่าวเพรสทรัสต์ออฟอินเดีย (Press Trust of India) ได้รายงานเพิ่มเติมว่า ในการโคลนนิงการิมานั้น นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เนื้อเยื่อจากตัวอ่อน และใช้เทคนิคโคลนนิงแบบที่สามารถเลือกเพศของตัวอ่อนได้ ที่เรียกว่า "แฮนด์-ไกด์ โคลนนิง เทคนิค" (hand-guided cloning technique) นับว่าได้พัฒนาก้าวหน้าไปมากกว่าการสร้างแกะดอลลี สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโคลนนิงตัวแรกของโลก
 
อย่างไรก็ดี การิมาก็หาใช่กระบือโคลนิงตวแรกของโลก แต่อินเดียก็ได้โคลนนิงกระบือตัวแรกของโลก จนลืมตาออกมาดูโลกได้สำเร็จเมื่อ 6 ก.พ.52 ที่ผ่านมา ด้วยการสร้างตัวอ่อนจากเนื้อเยื่อหูของกระบือเพศเมียตัวหนึ่ง แต่ลูกกระบือดังกล่าวมีชีวิตอยู่เพียงแค่ 1 สัปดาห์ก่อนที่จะตายไปด้วยโรคปอดบวม
 
สำหรับการิมานั้น นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ใช้เเนื้อเยื่อตัวอ่อนของกระบือเพศเมียมาใช้ในการโคลนนิงครั้งนี้ แทนการใช้เนื้อเยื่อหูเหมือนครั้งที่ผ่านมรา
 
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ NDRI ให้ความรู้ว่า อินเดียเป็นประเทศที่มีกระบือสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลก และยังมีจำนวนมากที่สุดในโลก ทว่าสัดส่วนของกระบือสายพันธุ์พิเศษกำลังลดน้อยลง ซึ่งการวิจัยและพัฒนาวิธีการโคลนนิงวัวของพวกเขาก็เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์ที่เป็นสายพันธุ์พิเศษเฉพาะ.





นักวิจัยญี่ปุ่นทำเนื้อเยื่อ "เมล็ดฟัน" จากเซลล์ ทดลอง เพาะในหนูปรากฏว่างอกได้ฟันใหม่ ไม่แตกต่างจากของเดิม หวังพัฒนาสู่การสร้างอวัยวะทดแทนเพื่อการรักษาด้วยวิธีชีววิศวกรรม

เอสึโกะ อิเคดะ (Etsuko Ikeda) และทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ โตเกียว (Tokyo University of Science) ประเทศญี่ปุ่น เผยผลสำเร็จในการทดลองพัฒนาเนื้อเยื่อที่มีคุณสมบัติคล้ายกับเป็นเมล็ดพันธุ์ของอวัยวะ ซึ่งในที่นี้คือ "ฟัน" แล้วสามารถนำไปปลูกถ่ายในหนูทดลองให้เจริญงอกงามขึ้นมาเป็นฟันทดแทนได้ ซึ่งเอเอฟพีและบีบีซีนิวส์ระบุว่างานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (Proceedings of the National Academy of Sciences)
ในรายงานวิจัยระบุว่าทีมวิจัยได้ใช้วิธีการทางชีววิศวกรรมพัฒนา "เมล็ดฟัน" ที่เป็นเนื้อเยื่อคล้ายเมล็ดพันธุ์พืช ภายในมีเซลล์และคำสั่งที่จำเป็นสำหรับการสร้างฟัน จากนั้นนำเมล็ดฟันนี้ไปปลูกถ่ายบนขากรรไกรของหนู ซึ่งสามารถเจริญเติบโตขึ้นเป็นฟันใหม่ทดแทนโดยไม่มีความผิดปกติใดๆ
นักวิจัยยังสามารถเพาะเมล็ดฟันให้เจริญเติบโตขึ้นบนเหงือกที่เคยเป็นฐานของฟันน้ำนมและฟันแท้ก่อนหน้านั้นได้ด้วย และฟันที่งอกขึ้นมาก็มีความแข็งพอที่จะบดเคี้ยวอาหารได้ และยังพบว่ามีการสร้างเส้นใยประสาทฟันที่สามารถตอบสนองได้เมื่อรู้สึกเจ็บปวดฟัน นอกจากนั้น ยังได้ติดตามการแสดงออกของยีนในเมล็ดฟันด้วยโปรตีนเรืองแสง ก็พบว่ายีนเดียวกันกับยีนที่ถูกกระตุ้นในการพัฒนาของฟันปกติ ก็ทำงานเป็นปกติในขณะที่ฟันทดแทนที่สร้างจากชีววิศวกรรมกำลังงอกขึ้น
"การศึกษาของเราครั้งนี้แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกถึงความสำเร็จในการสร้างเมล็ดพันธุ์อวัยวะจากเซลล์เดี่ยวในห้องทดลองด้วยวิธีทางชีววิศวกรรมที่เหมาะสม แล้วนำมาปลูกถ่ายให้เจริญเป็นอวัยวะทดแทนที่ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่โตเต็มวัยได้" ทาคาชิ ซึจิ (Takashi Tsuji) ศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ โตเกียว ที่เป็นหนึ่งในผู้วิจัย กล่าวและยังบอกด้วยว่าวิธีการดังกล่าวนี้เป็นต้นแบบของการรักษาด้วยอวัยวะทดแทนในอนาคตได้
ทั้งนี้ นักวิจัยหวังว่าในที่สุดแล้วนักวิทยาศาสตร์จะสามารถใช้เทคนิคดังกล่าวพัฒนาอวัยวะที่ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสามารทดแทนอวัยของร่างกายที่สูญเสียไปเนื่องจากโรค อุบัติเหตุ หรือแม้แต่ร่วงโรยไปตามวัย(Proceedings of the National Academy of Sciences)