Monstercitie

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552

นักวิจัยญี่ปุ่นทำเนื้อเยื่อ "เมล็ดฟัน" จากเซลล์ ทดลอง เพาะในหนูปรากฏว่างอกได้ฟันใหม่ ไม่แตกต่างจากของเดิม หวังพัฒนาสู่การสร้างอวัยวะทดแทนเพื่อการรักษาด้วยวิธีชีววิศวกรรม

เอสึโกะ อิเคดะ (Etsuko Ikeda) และทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ โตเกียว (Tokyo University of Science) ประเทศญี่ปุ่น เผยผลสำเร็จในการทดลองพัฒนาเนื้อเยื่อที่มีคุณสมบัติคล้ายกับเป็นเมล็ดพันธุ์ของอวัยวะ ซึ่งในที่นี้คือ "ฟัน" แล้วสามารถนำไปปลูกถ่ายในหนูทดลองให้เจริญงอกงามขึ้นมาเป็นฟันทดแทนได้ ซึ่งเอเอฟพีและบีบีซีนิวส์ระบุว่างานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (Proceedings of the National Academy of Sciences)
ในรายงานวิจัยระบุว่าทีมวิจัยได้ใช้วิธีการทางชีววิศวกรรมพัฒนา "เมล็ดฟัน" ที่เป็นเนื้อเยื่อคล้ายเมล็ดพันธุ์พืช ภายในมีเซลล์และคำสั่งที่จำเป็นสำหรับการสร้างฟัน จากนั้นนำเมล็ดฟันนี้ไปปลูกถ่ายบนขากรรไกรของหนู ซึ่งสามารถเจริญเติบโตขึ้นเป็นฟันใหม่ทดแทนโดยไม่มีความผิดปกติใดๆ
นักวิจัยยังสามารถเพาะเมล็ดฟันให้เจริญเติบโตขึ้นบนเหงือกที่เคยเป็นฐานของฟันน้ำนมและฟันแท้ก่อนหน้านั้นได้ด้วย และฟันที่งอกขึ้นมาก็มีความแข็งพอที่จะบดเคี้ยวอาหารได้ และยังพบว่ามีการสร้างเส้นใยประสาทฟันที่สามารถตอบสนองได้เมื่อรู้สึกเจ็บปวดฟัน นอกจากนั้น ยังได้ติดตามการแสดงออกของยีนในเมล็ดฟันด้วยโปรตีนเรืองแสง ก็พบว่ายีนเดียวกันกับยีนที่ถูกกระตุ้นในการพัฒนาของฟันปกติ ก็ทำงานเป็นปกติในขณะที่ฟันทดแทนที่สร้างจากชีววิศวกรรมกำลังงอกขึ้น
"การศึกษาของเราครั้งนี้แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกถึงความสำเร็จในการสร้างเมล็ดพันธุ์อวัยวะจากเซลล์เดี่ยวในห้องทดลองด้วยวิธีทางชีววิศวกรรมที่เหมาะสม แล้วนำมาปลูกถ่ายให้เจริญเป็นอวัยวะทดแทนที่ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่โตเต็มวัยได้" ทาคาชิ ซึจิ (Takashi Tsuji) ศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ โตเกียว ที่เป็นหนึ่งในผู้วิจัย กล่าวและยังบอกด้วยว่าวิธีการดังกล่าวนี้เป็นต้นแบบของการรักษาด้วยอวัยวะทดแทนในอนาคตได้
ทั้งนี้ นักวิจัยหวังว่าในที่สุดแล้วนักวิทยาศาสตร์จะสามารถใช้เทคนิคดังกล่าวพัฒนาอวัยวะที่ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสามารทดแทนอวัยของร่างกายที่สูญเสียไปเนื่องจากโรค อุบัติเหตุ หรือแม้แต่ร่วงโรยไปตามวัย(Proceedings of the National Academy of Sciences)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก